หลายคนอาจสงสัยว่าสุนัขสามารถเป็นโรคเบาหวานได้หรือไม่ สุนัขกินแค่อาหารเม็ด หรือ อาหารเปียกจะเป็นเบาหวานได้จริงหรือ? วันนี้เรามีคำตอบมาฝากทุกคนค่ะ
โดยทั่วไปแล้ว ร่างกายของสุนัขจะมีฮอร์โมนอินซูลินที่สังเคราะห์จากตับอ่อน เพื่อช่วยในการดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้ และควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่ให้มีมากจนเกินไปแต่สำหรับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานนั้น ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา จนไม่สามารถควบคุมได้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีโอกาสทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดในเลือดสูง และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานในสุนัข
การเกิดโรคเบาหวานในสุนัข อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกาย อายุ เพศ และสายพันธุ์ของสุนัข เป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย
– เพศ : สุนัขเพศเมียมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานมากกว่าเพศผู้ ถึง 2 เท่า
– น้ำหนัก : สุนัขที่มีน้ำหนักมากผิดปกติ มีแนวโน้มในการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์สมส่วน
– อายุ : โรคเบาหวานมักพบได้มากในสุนัขที่มีอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป
– สายพันธุ์ : สุนัขพันธุ์ซามอยด์ มินิชเนาเซอร์ มินิเอเจอร์พุดเดิ้ล และ บีเกิ้ล มักมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ
อาการของโรคเบาหวาน
- อาการเริ่มแรกที่สังเกตเห็นได้ง่าย คือ ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจจะมากกว่า 3 – 4 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของโรค เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไต จะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อปัสสาวะมาก ก็ทำให้ร่างกายขาดน้ำ รู้สึกกระหายน้ำ กินน้ำเยอะและบ่อยขึ้น
- เนื่องจากไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานไปใช้ได้ จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อ และไขมันแทน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน ผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- หากอาการรุนแรงอาจพบอาการทางประสาท ตาเป็นต้อกระจก หรืออาจเกิดตาบอดเฉียบพลันได้ ในรายที่มีข้อแทรกซ้อนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากภาวะคีโตนในเลือดสูง จะมีอาการอาเจียน , ท้องเสีย , ซึม , ขาดน้ำอย่างรุนแรงถือเป็นภาวะฉุกเฉินหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกันโรคเบาหวานในสุนัข
- พาสุนัขไปพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน ด้วยการตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดว่าสูงผิดปกติหรือไม่ โดยแนะนำว่าควรเป็นการตรวจในขณะที่มีการงดอาหารสุนัขมาแล้วอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง
- การจัดการด้านโภชนาการ เลือกให้อาหารที่มีองค์ประกอบ สารอาหาร และปริมาณที่เหมาะสมกับสายพันธุ์ ช่วงอายุ และ กิจกรรมในแต่ละวันของสุนัขของเรา ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยควบคุมไม่ให้สุนัขมีภาวะอ้วนเกินไปจนอาจเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานได้